การทำวิจัยคือ…………
คุณพจน์ สะเพียรชัย
กล่าวว่า “การวิจัยคือวิธีแก้ปัญหาที่มีระบบแบบแผนเชื่อถือได้ เพื่อให้เกิดความรู้ที่เชื่อถือได้”
คุณอนันต์ ศรีโสภา
กล่าวว่า “การวิจัยเป็นกระบวนการเสาะแสวงหาความรู้จากปัญหาที่ชัดเจนอย่างมีระบบ โดยมีการ ทดสอบสมมติฐานที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล ซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย ในเรื่องนั้น ๆ เพื่อนำไปพยากรณ์หรือสังเกตการเปลี่ยนแปลง เมื่อควบคุมสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ คงที่”
คุณเบส (Best) ให้ความหมายไว้ว่า “การวิจัยเป็นแบบแผนหรือกระบวนการวิเคราะห์อย่างเป็นปรนัย มีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ มีการจดบันทึกรายงาน และสรุปผลเป็นกฎเกณฑ์หรือทฤษฎีขึ้น เพื่อนำไปอธิบาย ทำนาย หรือควบคุมปรากฎการณ์ต่าง ๆ”
คุณเคอร์ลิงเจอร์ (Kerlinger) ให้ความหมายว่า “เป็นการใช้ข้อมูลในการตรวจสอบสมมติฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ ปรากฎการณ์ธรรมชาติ โดยมีการควบคุมอย่างเป็นระบบสม่ำเสมอ
ในที่ประชุม Pan Pacific Science Congress ค.ศ.1961 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แยกความหมายของ RESEARCH ไว้ดังนี้
R – Recruitment and Relationship หมายถึง การฝึกคนให้มีความรู้ รวมทั้งรวบรวมผู้มีความรู้และปฏิบัติงานร่วมกันติดต่อสัมพันธ์และประสานงานกัน
E – Education and Efficiency หมายถึง ผู้วิจัยจะต้องมีการศึกษา มีความรู้ และสมรรถภาพสูงในการวิจัย
S – Sciences and Stimulation เป็นศาสตร์ที่ต้องพิสูจน์เพื่อค้นคว้าหาความจริงและผู้วิจัยจะต้องมีพลังกระตุ้นให้เกิดความริเริ่ม กระตือรือร้นที่จะวิจัยต่อไป
E – Evaluation and Environment ผู้วิจัยจะต้องรู้จักการประเมินผลดูว่างานวิจัยที่ทำอยู่มีประโยชน์สมควรจะทำต่อไปหรือไม่ และต้องรู้ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการวิจัย
A – Aim and Attitude มีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่แน่นอนและมีเจตคติที่ดีต่อผลของการวิจัย
R – Result ผลของการวิจัยที่ได้มาจะเป็นทางบวกหรือลบก็ตาม จะต้องยอมรับผลของการวิจัยนั้น เพราะเป็นผลที่ได้มาจากการค้นคว้าอย่างระบบและเชื่อถือได้
C – Curiosity ผู้วิจัยจะต้องมีความอยากรู้อยากเห็น มีความสนใจและขวนขวายในงานวิจัยอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าความอยากรู้นั้นจะมีเพียงเล็กน้อยก็ตาม
H – Horizon เมื่อผลการวิจัยปรากฏขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ทราบและเข้าใจในปัญหาเหล่านั้นได้ เหมือนกับเกิดแสงสว่างขึ้น แต่ถ้ายังไม่เกิดแสงสว่าง ผู้วิจัยจะต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะพบแสงสว่าง ซึ่งก็คือผลของการวิจัยจะต้องก่อให้เกิดสันติสุขแก่สังคม
การวิจัยมีกี่ประเภท
การจำแนกประเภทของการวิจัยสามารถจัดทำได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับผู้จำแนกว่าจะอาศัยเกณฑ์หรือหลักการใดในการจำแนก ซึ่งแนวทางในการจัดจำแนกตามเกณฑ์ต่างๆ มีดังนี้ (บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์, 2535: 17-21)
1. ประเภทของการวิจัยแบ่งตามประโยชน์ของการนำผลไปใช้ แบ่งตามเกณฑ์นี้จะมี 3 ประเภท ได้แก่
1.1 การวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยบริสุทธิ์ (basic or pure research) การวิจัยแบบนี้เป็นการทำวิจัยเพื่อขยายขอบเขตของความรู้ให้กว้างขวางออกไป เป็นการสร้างทฤษฎีและแนวความคิดใหม่ๆ เสริมสร้างวิชาการให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์มุ่งหาสารอาหารในกล้วย โดยมุ่งหาว่ากล้วยประกอบด้วยสารอาหารอะไรบ้างเท่านั้น การวิจัยแบบนี้ มักจะใช้เวลานาน และใช้ประโยชน์ได้ต่อเมื่อไปวิจัยต่อ
1.2 การวิจัยประยุกต์ (applied research) การวิจัยแบบนี้มุ่งนำผลไปใช้เพื่อปรับปรุงสภาพของสังคมและความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น เช่น จากผลการวิจัยพื้นฐานพบว่า การสอนด้วยวิธีการใช้สไลด์ประกอบจะทำให้นักเรียนสนใจการเรียนและจำได้นาน ครูก็ลองนำผลการวิจัยนี้ไปทดลองและหาประสิทธิภาพของการสอนดูว่าทำให้นักเรียนสนใจมากขึ้น และนักเรียนจำเรื่องราวที่สอนได้นานจริงหรือไม่ ถ้าปรากฏว่ามีประสิทธิภาพก็จะทำให้ครูนำไปใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียนต่อไป
1.3 การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research) การวิจัยแบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ๆ และนำมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานโดยตรง เป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในการทำงาน โดยหวังที่จะปรับปรุง แก้ไขสภาพการทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม การวิจัยแบบนี้แท้จริงเป็นการวิจัยประยุกต์ลักษณะหนึ่ง แต่ต่างกับการวิจัยประยุกต์ทั่วไปตรงที่การวิจัยเชิงปฏิบัติการจะศึกษาเฉพาะที่ เฉพาะหน่วยงาน ผลการวิจัยนำไปใช้สรุปอ้างอิงไปยังกลุ่มอื่นหรือ ประชากรไม่ได้
2. ประเภทของการวิจัย แบ่งตามวัตถุประสงค์และวิธีการเสนอข้อมูล การวิจัยที่แบ่งตามเกณฑ์นี้อาจแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
2.1 การวิจัยขั้นสำรวจ (exploratory research) เป็นการวิจัยที่ต้องการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อหาข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นเท่านั้น ไม่มีการตั้งสมมติฐาน และไม่มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลในลักษณะตัวแปรที่แตกต่างกัน
2.2 การวิจัยเชิงบรรยาย (descriptive research) เป็นการวิจัยที่ต้องการหาคำตอบว่าอะไรและอย่างไรมากกว่าที่ต้องการหาคำตอบว่าทำไม รวมทั้งไม่มีการคาดคะเนปรากฏการณ์ในอนาคตแต่อย่างไร การวิเคราะห์ข้อมูลอาจจะมีการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างตัวแปรที่ศึกษาด้วย
2.3 การวิจัยเชิงอรรถาธิบาย (explanatory research) เป็นการวิจัยที่พยายามชี้หรืออธิบายให้เห็นว่าตัวแปรใดมีความสัมพันธ์ หรือเกี่ยวข้องกับตัวแปรใดบ้าง และความสัมพันธ์นั้นมีลักษณะอย่างไร เป็นเหตุผลของกันและกันหรือไม่
2.4 การวิจัยเชิงคาดคะเน (predictive research) เป็นการวิจัยที่พยายามชี้ให้เห็นหรือคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษา
2.5 การวิจัยเชิงวินิจฉัย (diagnostic research) เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น จะได้นำไปแก้ไขป้องกันได้ถูกต้อง
3. ประเภทของการวิจัย แบ่งตามความสามารถในการควบคุมตัวแปร การวิจัยที่แบ่งตามเกณฑ์นี้อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
3.1 การวิจัยเชิงทดลอง (experimental research) เป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยจัดสร้างสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ ขึ้นมาทดลอง โดยพยายามควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ต้องการให้มีผลกับการวิจัยนั้นออกไป แล้วสังเกตหรือวัดผลการทดลองออกมา
3.2 การวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (quasi experimental research) เป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยสามารถสร้างสถานการณ์ และเงื่อนไขเพื่อใช้ในการทดลองได้บ้างเป็นบางประเด็นและสามารถควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ต้องการให้มีผลกับการวิจัยนั้นได้เพียงบางตัวเนื่องจากไม่สามารถสุ่มตัวอย่างให้เท่ากันได้
3.3 การวิจัยเชิงธรรมชาติ (naturalistic research) เป็นการวิจัยที่ไม่มีการจัดสร้างสถานการณ์หรือเงื่อนไขใดๆ เลย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ผู้วิจัยไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อการวิจัยที่ได้นั้นเลย
4. ประเภทของการวิจัยแบ่งตามระเบียบวิธีการวิจัย การวิจัยที่แบ่งตามเกณฑ์นี้จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
4.1 การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (historical research) เป็นการวิจัยที่ใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ในลักษณะของการศึกษาหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อสืบประวัติความเป็นมาเชิงวิชาการในสาขาวิชาการต่างๆ ทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น และหาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน เพื่อใช้ทำนายเหตุการณ์ในอนาคต
4.2 การวิจัยเชิงบรรยาย (descriptive research) เป็นการวิจัยที่ใช้ระเบียบวิธีการบรรยายปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าคืออะไร และมีลักษณะอย่างไร ซึ่งมุ่งศึกษาหาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนั้น รวมทั้งศึกษาหาความสัมพันธ์ของการปฏิบัติ แนวคิดหรือเจตคติโดยเน้นถึงเรื่องราวในปัจจุบันเป็นสำคัญ
4.3 การวิจัยเชิงทดลอง (experimental research) เป็นการศึกษาหาข้อเท็จจริงด้วยการทดลองภายใต้การควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้องอย่างมีระเบียบแบบแผนและมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอนและสามารถกระทำซ้ำเพื่อพิสูจน์หรือทดสอบผลอีกได้
5. ประเภทของการวิจัย แบ่งตามระเบียบวิธีการวิจัยทั่วไป การวิจัยอาจแบ่งตามระเบียบวิธีการวิจัยทั่วๆ ไป ซึ่งแบ่งเป็น 6 ประเภท ดังนี้
5.1 การวิจัยเชิงทดลอง (experimental research)
5.2 การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (historical research)
5.3 การวิจัยเชิงย้อนรอย (expost facto research) เป็นการวิจัยที่ศึกษาจากผลไปหาเหตุ ซึ่งทั้งผลและเหตุเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว วิธีการศึกษาจะเริ่มจากกำหนดผลหรือตัวแปรตามก่อนแล้วค่อยค้นหาสาเหตุ ซึ่งเป็นตัวแปรอิสระที่ทำให้เกิดผล ตัวแปรตามนั้น เช่น การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการไปประกอบอาชีพในประเทศตะวันออกกลางของชายไทย ผลที่เกิดขึ้นก็คือการไปประกอบอาชีพในประเทศตะวันออกกลางของชายไทย ซึ่งเดินทางไปแล้ว จากนั้นตามไปศึกษาว่าทำไมเขาจึงต้องเดินทางไปทำงานยังประเทศตะวันออกกลาง มีเหตุหรือมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เขาไป
5.4 การวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) เป็นการศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่มีอยู่ว่าเป็นอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้างแล้วบรรยายสถานภาพที่ปรากฏอยู่ มีอยู่นั้นให้ทราบและอาจจะเปรียบเทียบกับสถานภาพที่มีอยู่ ปรากฏอยู่ในลักษณะต่างๆ หรือเงื่อนไขต่างกันและจะเปรียบเทียบกับสถานภาพที่เป็นมาตรฐานก็ได้ โดยไม่สนใจว่า ทำไมจึงมีสถานภาพปรากฏอยู่ มีอยู่อย่างนั้น
5.5 การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา (ethnographic research) เป็นการวิจัยที่มุ่งอธิบายสภาพการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรวมๆ ว่ามีความเป็นมาและพัฒนาการไปอย่างไร มีลักษณะคล้ายกับการวิจัยเชิงคุณลักษณะดังกล่าวแล้ว
5.6 การวิจัยเชิงประเมินผล (evaluative research) เป็นการวิจัยที่มุ่งพิจารณากำหนดคุณค่าหรือระดับความสำเร็จของกิจกรรม และเสนอแนะสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่อไป ปกติการวิจัยเชิงประเมินผลจะมุ่งหาคำตอบของปัญหาหลัก 3 ประการ คือ
5.6.1 โครงการนั้นประสบผลสำเร็จเพียงใด
5.6.2 โครงการนั้นมีประสิทธิภาพเพียงใด
5.6.3 กิจกรรมที่ทำตามโครงการนั้นควรจะทำต่อไปหรือไม่
6 ประเภทของการวิจัยแบ่งตามลักษณะของข้อมูล แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
6.1 การวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) หมายถึงการวิจัยที่เน้น (ก) ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องของข้อค้นพบและข้อสรุปต่างๆ ของเรื่องที่ทำการศึกษา และ (ข) ความใช้ได้กว้างขวางทั่วไปของข้อค้นพบ (สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์,2540:24-25)
6.2 การวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) เป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นอธิบายปราฏการณ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์กับสภาพแวดล้อม โดยอาศัยมิติทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นหลักในการศึกษาและวิเคราะห์ปรากฏการณ์นั้น
7. ประเภทของการวิจัย แบ่งตามสาขาวิชาการต่างๆ ของสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มวิชาการต่างๆ ดังนี้ (ข่าวสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2540: 3)
7.1 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ ประกอบด้วยกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกและอวกาศ ธรณีวิทยา อุทกวิทยา สมุทรศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา ฟิสิกส์ของสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
7.2 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประกอบด้วยกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ แพทยศาสตร์ สา