เทคนิคการเขียนบทความวิจัยให้ได้รับการตีพิมพ์
แนวทางและขั้นตอนที่สำคัญในการเขียนบทความวิจัยเพื่อให้ได้รับการตีพิมพ์ดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 หลังจากที่ได้ทำงานวิจัยและได้ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถเริ่มต้นเขียนบทความวิจัยได้ ซึ่งในการเขียนบทความที่ดี มีสิ่งที่ควรคำนึงถึงดังนี้
• เป็นผลที่ได้มาจากงานวิจัยที่มีคุณภาพ มีความคิดริเริ่ม (originality) และมีความใหม่ (novelty)
• ส่งบทความวิจัยเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสารระดับชาติหรือนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูลที่ สกอ รับรอง และถ้าเป็น วารสารนานาชาติก็ควรพิจารณาถึงค่า Impact factor ด้วย2
• เลือกวารสารที่จะส่งตีพิมพ์ให้สอดคล้องกับเนื้อหาของบทความวิจัย
• ภาษาที่ใช้ในการเขียนควรเป็นภาษาทางการ
o ไม่ควรใช้ภาษาพูดและคำสรรพนาม
o ถ้าตีพิมพ์ลงในวารสารภาษาไทย ถ้าใช้คำทับศัพท์ก็จะต้องสอดคล้องกับศัพท์ราชบัณฑิต
• ศึกษารูปแบบการเขียนบทความจากวารสารที่ต้องการจะส่งไปตีพิมพ์ให้เข้าใจและชัดเจน เพราะวารสารต่างๆ จะมีข้อกำหนดและรูปแบบในการตีพิมพ์แตกต่างกัน เช่น รูปแบบ (format) ฟอนต์ การอ้างอิง และอื่นๆ
o เตรียมต้นฉบับให้ตรงตามข้อกำหนดของวารสาร
o เขียนเนื้อหาแต่ละส่วนให้ชัดเจน กระชับ หนักแน่น เข้มข้น และเรียงลำดับข้อมูลอย่างถูกต้องและสมเหตุผล
o เนื้อหาสัมพันธ์และไปในแนวทางเดียวกัน (consistent) และอ่านเข้าใจง่าย
o อ่านแล้วได้ความรู้ใหม่ ทฤษฎีใหม่ หรือความคิดใหม่
ขั้นตอนที่ 2 เขียนบทความวิจัยในแต่ละส่วน โดยเริ่มจากหัวข้อที่สามารถเขียนได้ง่ายก่อน (ตามความถนัดของผู้เขียน) โดยข้าพเจ้าจะเขียนรายละเอียดในหัวข้อต่างๆ เรียงตามลำดับดังนี้
1) ชื่อเรื่อง (title), ผู้เขียน (author) และหน่วยงานต้นสังกัด (affiliation)
o ตั้งชื่อเรื่องให้สอดคล้องกับงานวิจัย และดึงดูดใจบรรณาธิการ (editor) และผู้อ่านพิจารณา (reviewer)
o หลีกเลี่ยงการตั้งชื่อเรื่องที่กำกวมและไม่น่าสนใจ (ชื่อเรื่องที่ดีควรบ่งบอกถึงประเด็นสำคัญของงานวิจัย)
2) บทนำ (introduction) ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขอบเขต บทความและทฤษฎีที่สัมพันธ์
o ทบทวนวรรณกรรมที่ได้มีการนำเสนอก่อนหน้านี้ให้ครบถ้วน (literature review) โดยพยายามอ้างถึงงานวิจัยใหม่ๆ ที่ตีพิมพ์ก่อนนี้ไม่นานที่คล้ายกับงานวิจัยของเรา
o เน้นอธิบายว่างานวิจัยของเราแก้ปัญหางานวิจัยเดิมอย่างไร แตกต่างหรือโดดเด่นจากงานวิจัยที่ทำมาก่อนหน้านี้อย่างไร
o เน้นให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากงานวิจัยของเรา
3) วัสดุอุปกรณ์ และวิธีดำเนินการ (methodologies)
o อธิบายขั้นตอนการดำเนินการให้ชัดเจนและกระชับ เพื่อให้ผู้อ่านที่เป็นผู้ชำนาญเช่นเดียวกับเรา สามารถทำการทดลองซ้ำแล้วได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกับงานวิจัยของเรา
4) ผลและการวิเคราะห์ผล (results and analysis) ในรูปข้อความ ตาราง กราฟ หรือรูปภาพ
o เป็นหัวใจหลักของบทความที่เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าทำวิจัย/ศึกษาแล้วได้อะไร ค้นพบอะไร
o พยายามแสดงผลโดยใช้รูปไดอะแกรม ตาราง กราฟ หรืออื่นๆ ให้ชัดเจน สวยงามถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพราะเป็นส่วนที่สาคัญที่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจผลลัพธ์ได้ง่าย
o ควรจัดเรียงเนื้อหาให้เหมาะสม เรียงตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง
5) การวิจารณ์ผล (discussion)
o อธิบายผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองให้ชัดเจน (ถ้าได้ผลลัพธ์ที่แปลกๆ ก็ต้องพยายามหาเหตุผลมาอธิบายให้ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามของผู้อ่าน)
o ในวารสารบางฉบับ ส่วนผลและการวิเคราะห์ผลกับส่วนวิจารณ์ผลอาจรวมอยู่ในส่วนเดียวกัน (บางฉบับอาจแยกกัน)
ผลและการวิเคราะห์ผล เป็นการนำเสนอข้อค้นพบ หรือผลการศึกษา หรือแปลผลการทดลอง/ศึกษาออกมาให้ผู้อ่านเข้าใจ
การวิจารณ์ผล อาจทำโดยการเปรียบเทียบผลที่เราค้นพบกับการศึกษาก่อนหน้านี้ (ซึ่งต้องอาศัยการทบทวนวรรณกรรมจำนวนมากมาก่อน) วิจารณ์ประเด็นที่เราเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับนักวิจัยอื่นแล้วนำเสนอ/แนะนำข้อค้นพบและประโยชน์จากงานวิจัยของเรา
6) สรุป (conclusion) และข้อเสนอแนะ
o เริ่มต้นควรกล่าวถึงสาเหตุของการทำงานวิจัยนี้ว่าทำขึ้นเพื่อศึกษาหรือแก้ปัญหาอะไร จากนั้นก็อธิบายผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลอง แล้วก็ปิดท้ายด้วยการให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของงานวิจัยนี้
7) คำขอบคุณ (acknowledgement) (ถ้ามี)
o เขียนคำขอบคุณให้กับบุคคลต่างๆ ที่ช่วยให้คำปรึกษาหรือเครื่องมือ รวมทั้งขอบคุณแหล่งทุนที่สนับสนุนการทำวิจัยของเรา
8) เอกสารอ้างอิง (references)
o ควรเคร่งครัดกับรูปแบบของการเขียนเอกสารอ้างอิงของวารสารแต่ละฉบับ
o พยายามใช้เอกสารอ้างอิงที่ใหม่ๆ เพื่อแสดงให้ผู้อ่านพิจารณา (reviewer) เห็นว่างานวิจัยของเราไม่ล้าสมัย
9) บทคัดย่อ (abstract) หรือสาระสังเขป (summary)
o เป็นส่วนที่สำคัญและเขียนยากที่สุด จึงควรเขียนเป็นลำดับสุดท้าย
o บทคัดย่อที่ดีจะต้องกระชับ เข้าใจง่าย และสื่อถึงประโยชน์ของงานวิจัยนี้
o วารสารส่วนใหญ่จะจำกัดจำนวนคำในบทคัดย่อ เช่น ไม่เกิน 300 คำ ดังนั้นจะต้องเขียนไม่เกินที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
o สาระสำคัญในบทคัดย่อ ควรประกอบด้วย ปัญหาหรือวัตถุประสงค์ของการทำวิจัย ทฤษฎีหรือวิธีการทดลอง/ศึกษาที่ใช้ในการศึกษา สรุปผลการทดลอง และข้อสรุปที่สำคัญ
ข้อสังเกตในการตีพิมพ์เผยแพร่
การตีพิมพ์เผยแพร่มี 2 รูปแบบ ซึ่งมีจุดประสงค์และระดับความยากและง่ายแตกต่างกัน ดังนี้
1) การเผยแพร่ในที่ประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ (conference) จะเป็นการนำผลงานวิจัยที่เพิ่งทำเสร็จมาเขียนเป็นบทความแล้วส่งให้ที่ประชุมวิชาการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (reviewer) เพื่อประเมินคุณค่าและความถูกต้อง เมื่ออนุมัติผ่าน บทความก็จะได้รับการตีพิมพ์รวมเล่มในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ (proceedings) โดยในการประชุมผู้วิจัยจะต้องมานำเสนอบทความของตนเอง โดยการนำเสนออาจจะอยู่ในรูปโปสเตอร์ (poster) หรือแบบปากเปล่า (oral)
o ข้อดีคือผลงานวิจัยจะได้รับการเผยแพร่อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีเวทีลักษณะนี้จำนวนมาก โอกาสในการนำเสนอจึงมีมาก นอกจากนี้ที่ประชุมวิชาการยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบรรดานักวิจัยท่านอื่นจึงมีประโยชน์มากสำหรับการส่งบทความที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ออกไปทดสอบ เพื่อนำผลตอบรับกลับมาปรับปรุงให้ดีขึ้นสำหรับการตีพิมพ์ลงในวารสารต่อไป นอกจากนี้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ การสร้าง
ชื่อเสียงให้นักวิจัยอื่นรู้จักและสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยในสาขาเดียวกัน
o ข้อควรระวัง เนื่องจากการจัดประชุมวิชาการในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงส่งผลให้คุณภาพในภาพรวมลดลง นอกจากนี้งานประชุมวิชาการบางแห่งจัดขึ้นเพื่อหวังเพียงผลกำไรหรือเพื่อให้บรรดาผู้จัดงานและครอบครัวได้ไปเที่ยวฟรี รวมทั้งหลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีการจัดประชุมวิชาการเป็นของตนเองจึงอาจทำให้ขาดคุณภาพและขาดความเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้อย่างจริงจัง ดังนั้นผู้เขียนบทความวิจัยจึงควรเลือกที่ประชุมวิชาการที่มีความเกี่ยวข้องหรือความเชี่ยวชาญตรงกับงานของนักวิจัยให้มากที่สุด
2) การเผยแพร่งานวารสารวิชาการ3 (journal) ถือเป็นทางการและได้รับการยอมรับมากที่สุดในวงการวิชาการโดยขั้นตอนการส่งผลงานตีพิมพ์จะเริ่มจากการส่งต้นฉบับของบทความพร้อมทั้งจดหมายนำ (cover letter) ถึงบรรณาธิการ เพื่อเกริ่นนำการค้นพบหรือความสำคัญของงาน ปัจจุบันวารสารหลายฉบับมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง โดยผู้เขียนสามารถลงทะเบียนเข้าเป็นผู้ใช้งานและทำการส่งเอกสารต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์และติดตามผลทางออนไลน์ได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องส่งทางไปรษณีย์เหมือนในอดีต สำหรับผลของการพิจารณาจะเป็นไปได้ 3 กรณี ดังนี้
2.1) การปฏิเสธ (reject) นักวิจัยอาจนำข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้ทรงคุณวุฒิมาใช้ปรับปรุงบทความวิจัยของเรา เพื่อให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนส่งไปตีพิมพ์ที่วารสารอื่น
2.2) การส่งกลับมาแก้ไข (revise) จะมีการกำหนดระยะเวลาให้ส่งกลับคืนด้วย โดยอาจแนะนำให้ทำการทดลองเพิ่ม ให้แก้ไขต้นฉบับและ/หรือให้ตอบคำถามต่างๆ (การแก้ไขอาจต้องทำ 2 – 3 รอบ ซึ่งเมื่อแก้ไขแล้ว ก็มีโอกาสที่จะได้รับการตีพิมพ์สูง)
2.3) การตอบรับให้ตีพิมพ์ (accept) ทางวารสารจะจัดทำต้นฉบับที่เหมือนจริงในวารสารส่งให้นักวิจัยตรวจทานอีกครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาด นักวิจัยต้องรีบดำเนินการตรวจแก้ไขและส่งกลับคืนตามระยะเวลาที่กำหนด
1 บทความวิจัย (research article) เป็นบทความเสนอผลงานวิจัยหรือผลงานที่ได้จากการศึกษาวิจัยในด้านทฤษฎีหรือจากการ
ทดลอง และเป็นข้อมูลที่ผู้อ่านที่มีความชำนาญด้านเดียวกับผู้เขียนสามารถศึกษาและทำการทดลอง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกัน
(ไพโรจน์ ตีรณธนากุล, 2545: 142)
2 ฐานข้อมูลวารสารวิจัยที่นิยมเช่น ดัชนีอ้างอิง Thailand Citation Index (TCI), ดัชนีอ้างอิง SCImago ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล Scopus
ของบริษัท Elsevier, และดัชนีอ้างอิง ISI ซึ่งเป็นของบริษัท Thomson Reuters
3 ในปัจจุบันวารสารวิชาการมีจำนวนมากซึ่งมีคุณภาพและมาตรฐานแตกต่างกันไป (มีตั้งแต่ระดับง่ายจนถึงยากมาก และใช้เวลาใน
การพิจารณาหลายเดือนถึงเป็นปี)__