เคล็ดลับการเรียน – เรียนให้เป็น ไม่ใช่เรียนให้หนัก
ทุกคนต่างก็มีวิธีการเรียนเป็นของตัวเอง เพราะการเรียนให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดไม่มี ‘สูตรสำเร็จ’ เพียงสูตรเดียว ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการเรียน คือวิธีที่เหมาะสมกับตัวเราที่สุด
แทนที่จะ ‘เรียนให้หนัก’ เราควรจะ ‘เรียนให้เป็น’ ถามตัวเราเองว่า จะสร้างสุขนิสัยที่ดีในการเรียนให้ได้ประโยชน์เต็มที่อย่างไรบ้าง วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาที่เสียไปกับการเรียนได้อีกด้วย
สถานที่นั้น สำคัญไฉน?
แม้งานวิจัยบางชิ้นพบว่าคาเฟ่เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับทำการบ้านและอ่านหนังสือ (บรรยากาศเสียงรอบข้าง อุณหภูมิอบอุ่น แสงสบายตา ยังไม่รวมกาแฟแก้ง่วงที่ขายในร้าน) แต่ข้อสรุปนี้ก็ไม่ได้เป็นจริงสำหรับทุกคนเสมอไป
หากเป็นคนหนึ่งที่ความพลุกพล่านและเสียงรอบตัวในคาเฟ่ทำให้สมาธิกระเจิดกระเจิง ลองเปลี่ยนที่อ่านหนังสือจากคาเฟ่มาเป็นห้องสมุดสาธารณะเงียบสงบใกล้บ้านดูสิ
อีกทางเลือกที่คนนิยมคือการอ่านที่บ้าน ซึ่งบางครั้งความสะดวกสบายของบ้านตัวเองเป็นอุปสรรคตัวร้ายที่ทำให้ไม่ได้อ่านหนังสืออย่างเต็มที่ บางครั้งเราก็อยากอ่านหนังสือชิวชิว แต่ก็ไม่ชิวถึงขั้นอยากล้มตัวลงนอนบนเตียงซะหน่อย
เสียง…มากน้อยแค่ไหนถึงจะดี?
จากการศึกษาพบว่า บรรยากาศเงียบๆ ช่วยเราเอาชนะการทำงานยากๆ ได้ แต่ก็มีบางส่วนเห็นว่า เสียงรอบข้างแบบพอดีๆ ไม่ดังจนเกินไปต่างหากที่ช่วยให้เราทำงานได้ดีกว่า
จากการทดลองพบว่า เสียงรอบข้างประมาณ 70 เดซิเบล (แบบที่ได้ยินตามคาเฟ่ทั่วไป) ดีต่อการทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่หากดังมากไปกว่านั้น (อย่างการอยู่ในคาเฟ่ที่เสียงดัง หรือนั่งใกล้เครื่องบดกาแฟ) อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตและความเครียดที่เพิ่มขึ้น ทำให้สมองรับข้อมูลได้น้อยกว่าปกติ
บางคนชอบฟังเพลงคลอไปขณะอ่านหนังสือหรือทำการบ้าน ซึ่งหลายคนก็มองว่าทำให้เสียสมาธิ ลอง
ฟังแนวเพลงที่จะไม่ทำให้เราหลุดโฟกัสขณะอ่านหนังสือ เช่น เพลงนีโอคลาสสิคของ Nils Frahm, Max Richter, Olafur Arnalds เพลงแจ็สของ Chet Baker, Dave Brubeck, Jimmy Smith, Duke Jordan เพลงโมเดิร์นอย่าง Mogwai, BADBADNOTGOOD, Nightmares on Wax เป็นต้น
เรียนช่วงไหนเวิร์คสุด?
ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดสำหรับคำถามนี้ นักวิจัยบางคนแนะนำว่าให้ใช้เวลาช่วงเช้าเรียนบทเรียนใหม่ๆ และนำความรู้ตรงนั้นมาปรับใช้กับความรู้เดิมที่มีอยู่แล้วในช่วงกลางวัน-เย็น แต่สุดท้า ยแล้วก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน
ตอนเช้า
ร่างกายเรามีพลังงานเหลือเฟือ
มีสถานที่ให้เลือกเยอะมากกว่า
หากมีคำถามไม่เข้าใจก็สามารถถามคนอื่นได้ทันที
แสงธรรมชาติดีต่อสายตาและสมาธิมากกว่า
แต่ก็มีสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิมากกว่า
ตอนกลางคืน
• เงียบสงบ
• ช่วงกลางคืน ความคิดสร้างสรรค์เราจะโลดแล่นมากกว่าปกติ รับรู้คอนเซ็ปต์ต่างๆ ในมุมมองที่ต่างจากเดิม
• มีสถานที่ให้เลือกน้อยลง ซึ่งสถานที่เหล่านั้นก็มักจะคนน้อย
• บางงานวิจัยพบว่ามนุษย์กลางคืนฉลาดกว่าคนที่ตื่นเช้า
เรียนนานแค่ไหน?
การพักสายตาจากการอ่านหรือการเรียนเป็นเรื่องสำคัญ นักสังคมศาสตร์ได้ทำการทดลองและพบว่า
52 นาที เป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการเรียนในหนึ่งช่วง ก่อนที่จะพักอีก 17 นาที แม้ว่าจะฟังดูตลก แต่ว่าหัวใจสำคัญของการพักนั้น ไม่ใช่แค่การอู้งานเฉยๆ แต่เป็นการทำให้เราสามารถกลับมาเรียนต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การเรียนหรืออ่านหนังสือติดต่อกันนานๆ ทำให้สมาธิลดลงเรื่อยๆ จนง่วงนอน ลองละสายตาจากหนังสือสักครู่แล้วทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายเล็กน้อย จะสังเกตได้ว่าเราจะมีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น แถมสมองยังรับข้อมูลได้มากกว่าการอ่านหนังสือยาวๆ โดยไม่พักเลย
คนเดียวหัวหายหรือสองคนเพื่อนตาย?
ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องที่เราเรียนเป็นเรื่องอะไร มีการค้นพบว่าการเรียนเป็นกลุ่มได้ผลมากกว่าเรียนคนเดียว เพราะช่วยให้เกิดการกระตุ้นซึ่งกันและกัน สามารถผลัดกันถาม-ตอบเรื่องที่เรียนได้ ช่วยสร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อเหมือนเคย
อย่างไรก็ตาม การเรียนเป็นกลุ่มอาจกลายเป็นอุปสรรค เราอาจจะตั้งใจเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับเพื่อน
แต่ดันจบลงที่การคุยกันเรื่องไปเที่ยวตอนปิดเทอม ดังนั้น จึงควรเลือกอ่านหนังสือกับเพื่อนที่ตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือเหมือนกับเรา และแยกเวลาเล่นกับเวลาเรียนให้เหมาะสม
สุดท้ายแล้ว วิธีเรียนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ วิธีที่เหมาะสมกับตัวเราเองที่สุดต่างหาก ฉะนั้น ก่อนจะเริ่มลงมืออ่านหนังสือครั้งหน้า อย่าลืมนึกถึงสภาพแวดล้อมที่เราชอบที่สุดในการเรียน ยิ่งรู้ว่าเราเหมาะกับบรรยากาศการเรียนแบบไหน ยิ่งทำให้เราเรียนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
การพัฒนากรอบแนวคิดในการวิจัยเพื่อการศึกษา
การพัฒนากรอบแนวคิด (Conceptual Framework) ในการวิจัยเพื่อการศึกษาเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานของงานวิจัย กรอบแนวคิดเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้วิจัยมองเห็นภาพรวมของปัญหาที่ต้องการศึกษา และแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ในการศึกษาได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ กรอบแนวคิดยังช่วยให้ผู้วิจัยสามารถวางแผนวิธีการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีระบบมากขึ้น