ป เอก หรือคำนำหน้าว่า ดร. คือความฝันและเป้าหมายที่สำคัญของหลายๆ คน มีนิสิตทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อให้บรรลุความฝันนั้นมากมาย หลายคนประสบความสำเร็จด้วยความราบรื่น และมีอีกหลายคนที่กว่าจะประสบความสำเร็จก็เสียหยาดเหงื่อและนำ้ตาไม่น้อย
ปัจจัยใดบ้างที่ช่วยให้เราบรรลุความสำเร็จนั้น
1) ตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างสม่ำเสมอ…หลายคนจะฮึกเฮิมเฉพาะบางช่วงเวลาที่สำคัญ พอผ่านพ้นเวลาสำคัญนั้นไป ก็เริ่มแผ่วและห่างหายไปอีก เริ่มต้นด้วยการทุ่มเทเรียนรายวิชาบังคับจนผ่าน ต่อด้วยความเครียดเพื่อเตรียมตัวสอบวัดคุณสมบัติ ป เอก พอสอบผ่าน ก็เหมือนยกภูเขาออกจากอก ขอเวลาพักผ่อน หายใจ หายเครียด บางคนหายไปเป็นเทอม ลืมไปว่าต้องสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์
พอจะสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ก็มาอดหลับอดนอน นั่งเทียนเขียนบ้าง จินตนาการบ้าง อาจหาข้อมูลไม่ดี ไม่ครบทวน หรือเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่แคบเกินไป แต่ก็ทำเพื่อให้ผ่านพ้นการสอบหัวข้อไป หากใครได้คณะกรรมการสายโหด สายแข็ง และเข้าใจในงานที่ประเมิน ก็จะได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์ต่อไปในอนาคต แต่ถ้าใครได้คณะกรรมการที่อาจไม่เข้าใจในเนื้องานและปล่อยผ่านไปได้อย่างง่ายดาย ก็อาจมีปัญหาในอนาคตได้เช่นกัน
พอสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์เสร็จ ก็พักเหนื่อยอีกรอบ หายไปอีกเป็นปี หรือหลายปี จะรู้ตัวอีกที ก็เทอมสุดท้าย พอเริ่มกลับมาทำวิทยานิพนธ์ อ้าว..หัวข้อเรื่องมันเก่าไปแล้ว มีคนทำไปหมดแล้ว ไม่เหลือประเด็นไหนให้ทำวิจัยเลย แล้วจะตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้อย่างไร ลำบากแล้วสิ อาจต้องมานั่งรื้อหัวข้อวิทยานิพนธ์ใหม่ ศึกษา ทำการทดลอง เก็บข้อมูลใหม่อีกรอบ
2) เลือกหัวข้อวิจัยที่สนใจและชอบ…เวลาค้นหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้วรู้สึกสนุก ตื่นเต้น เข้าใจ และสามารถจินตนาการต่อไปได้ว่าอยากเห็นอนาคตของประเด็นวิจัยเป็นอย่างไร เวลาที่ทำการทดลอง เก็บข้อมูลจะรู้สึกท้าทาย
หลายคนก็อาจเลือกที่ตัวอาจารย์ก่อน แล้วค่อยเลือกหัวข้อที่อาจารย์สนใจและปรับให้อยู่ในแนวทางที่ตัวเองชอบก็ได้เช่นกัน
3) หัวข้อต้องทันสมัยในแง่ของนานาชาติ เพราะต้องตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติ ปริญญาเอกต้องใช้เวลาอยู่กับหัวข้อนี้ไปอีก 3-5 ปี พอปีที่ 5 จะต้องจบแล้ว ปรากฏว่ามีคนทำเรื่องเดียวกับเราเลย หรือเรื่องก็ล้าสมัยไปแล้ว ดังนั้นเวลาคิดหัวข้อวิจัยควรคิดล่วงหน้าไปสัก 5 ปี อย่ามองที่ปัจจุบันว่ามีใครทำอะไรอยู้บ้างเท่านั้น
หลายคน review เพียงเปเปอร์ที่ตีพิมพ์แล้ว บางครั้งไม่เพียงพอ เพราะผลงานที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2016 อาจเป็นงานวิจัยที่ดำเนินการก่อนหน้านี้สัก 3 ปี แล้วก็ได้ นั้นหมายความว่าการต่อยอดจากเรื่องนั้น ก็อาจมีคนอื่นกำลังทำอยู่เช่นเดียวกัน การแข่งขันจึงสูงมาก
4) ประเด็นการทำวิจัยตัองใหม่ ทันสมัย และมีประโยชน์และสามารถทำได้จริงในเชิงปฏิบัติ การออกแบบการทดลอง การวิเคราะห์ผลการทดลอง การสรุปผลการทดลองต้องถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย
5) พบอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ไม่มีความก้าวหน้า ก็ควรบอกให้ท่านทราบถึงสาเหตุ ไม่ใช่หายไปเฉยๆ บางครั้ง การกลัวที่ปรึกษาดุ แล้วยิ่งหายไป ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น ทำการทดลองไม่ได้ผล ก็ควรแจ้งให้ท่านทราบเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของนิสิต อาจเป็นปัญหาที่เล็กน้อยก็ได้เมื่อช่วยกันแก้ปัญหา
6) ฝึกการนำเสนอผลงานบ่อยๆ ฝึกเขียนบ่อยๆ เพราะการเขียนเชิงวิชาการ แตกต่างจากการเขียนในชีวิตประจำวันอย่างมาก การเขียนต้องมีเหตุมีผล ต้องมีการอ้างอิง ต้องมีการวิเคราะห์และสังเคราะห์
7) ฝึกการยอมรับความคิดเห็นที่ต่าง แล้วนำกลับมาแก้ไขให้งานที่ดีขึ้น ทุกความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบก็มีประโยชน์ทั้งนั้น หลายคนที่ทิ้งผลการทดลองที่ล้มเหลวโดยไม่ได้มีการพิจารณาว่าความล้มเหลวเป็นผลมาจากอะไร หรือทำไมถึงผิดพลาด ในผลการทดลองที่ผิดพลาดหรือล้มเหลวอาจมีประเด็นที่มีประโยชน์ หรือ สิ่งที่ไม่คาดฝันแฝงอยู่ในนั้น อะไรที่เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ แต่อาจมีประโยชน์ก็ได้เช่นกัน
8) ต้องมีจริยธรรมในการทำวิจัยด้วย ไม่ลอกงานคนอื่น ไม่จิตนาการผลการทดลองขึ้นมาจากความฝัน ไม่นำงานของคนอื่นมาเป็นของตน เวลาที่คนอื่นช่วยเราเราควรขอบคุณ
9) สำคัญที่สุดคือ มิตรภาพระหว่างการเรียนการทำวิทยานิพนธ์ในหมู่เพื่อน พี่น้องร่วมสถาบัน จะเป็นมิตรภาพที่ยั่งยืน ยิ่งให้ยิ่งได้รับ. การแข่งขันกัน เราอาจประสบความสำเร็จในวันนี้ แต่ไม่มีความสุข และอาจไม่ยั่งยืน
10) เมื่อสำเร็จแล้วควรเสริมสร้างความรู้ให้ทันสมัย และใช้ประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ ตนเอง และครอบครัว (ขอเพิ่มเติมข้อคิดเห็นที่ดีๆ จาก ดร. เอกชัย ภู่สละ ศิษย์เก่า TIP)